Wednesday, August 10, 2011
ควรซื้อโทรทัศน์แบบไหนดี
พลาสมา
นักตกแต่งภายในชอบโทรทัศน์ชนิดนี้มาก เพราะมีรูปร่างเพรียวและสามารถแขวนกับผนังห้องได้
ข้อดี ขนาดบางมาก ไม่ถึงสิบเซนติเมตร จอภาพมีขนาดใหญ่มาก ให้มุมรับชมกว้าง แสดงความสว่างของภาพและความแตกต่างระหว่างส่วนมืดและส่วนสว่างได้ดีมาก
ข้อเสีย แพงกว่าโทรทัศน์ประเภทอื่น จอภาพอาจไหม้ได้ถ้าแสดงภาพนิ่งนานๆ กินไฟ หนัก อาจต้องใช้สองคนยก ดังนั้น ควรแน่ใจว่าผนังจะรับน้ำหนักไหว
ราคา เมื่อห้าปีก่อน ราคาสูงกว่า 400,000 บาท ปัจจุบัน ราคาประมาณ 290,000 บาท หรือถูกกว่านั้น
แอลซีดี หรือโทรทัศน์จอผลึกเหลว
มีลักษณะเหมือนโทรทัศน์พลาสมา แต่โดย ทั่วไปจะเล็กกว่า
ข้อดี เสี่ยงเกิดจอไหม้น้อยกว่า โดยทั่วไป กินไฟน้อยกว่าโทรทัศน์พลาสมา มีขนาดบางมาก ไม่กินที่ และใช้เป็นจอคอมพิวเตอร์ได้
ข้อเสีย ราคาอาจแพง จอภาพมีขนาดเล็กกว่า ภาพอาจเลือนถ้าไม่ได้ชมอยู่ตรงหน้าจอภาพ
ราคา มีราคาสูงถึงประมาณ 400,000 บาท แม้ว่าราคาจะตั้งต้นที่ประมาณ 30,000 บาท
โทรทัศน์ที่ใช้หลอดภาพ
คือโทรทัศน์แบบดั้งเดิมที่เราเห็นมาตั้งแต่เด็ก และเป็นโทรทัศน์ประเภทแรกตั้งแต่เริ่มมีโทรทัศน์
ข้อดี ภาพมีคุณภาพดีมาก โดยทั่วไปจะมีราคาถูกที่สุด มีให้เลือกมากมายหลายชนิด ทำให้เลือกซื้อได้คุ้มค่าที่สุด
ข้อเสีย อาจมีขนาดใหญ่เทอะทะและหนัก แต่ก็ขึ้นกับขนาดที่เลือกซื้อ
ราคา เริ่มตั้งแต่ประมาณ 3,600 บาทสำหรับโทรทัศน์เครื่องเล็กจนถึงประมาณ 60,000 บาท
เครื่องฉายภาพ
โทรทัศน์แบบนี้ทำงานคล้ายโรงภาพยนตร์ กล่าวคือฉายภาพข้ามห้องไปตกอยู่บนผนังหรือฉาก
ข้อดี จอภาพมีขนาดใหญ่ที่สุด อาจกว้างหกเมตรหรือมากกว่านั้นราวกับคุณมีโรงภาพยนตร์ส่วนตัวทีเดียว
ข้อเสีย อาจติดตั้งยาก ต้องชมในห้องที่มืด ต้องทำความสะอาดอยู่เสมอ เปลี่ยนหลอดไฟเป็นประจำ และหลอดไฟอาจมีราคาแพง
ราคา ตั้งแต่ประมาณ 40,000 บาทขึ้นไป
โปรเจ็กชันทีวี
เป็นโทรทัศน์ที่มีจอภาพขนาดใหญ่ มีลักษณะเหมือนตู้ เป็นโทรทัศน์ที่มีจอภาพขนาดใหญ่ที่สุด
ในบรรดาโทรทัศน์ราคาเดียวกัน
ข้อดี คุ้มค่ามาก
ข้อเสีย เป็นสิ่งใหญ่ที่สุดในห้อง มีขนาดเทอะทะและเคลื่อนย้ายยาก มีมุมรับชมจำกัด หลอดไฟที่ต้องเปลี่ยนมีราคาแพง
ราคา ตั้งแต่ 35,000 ถึง 140,000 บาท
ที่มา: http://www.readersdigestthailand.co.th/article/2034
Monday, August 8, 2011
จอภาพผลึกเหลว(LCD)
จอภาพผลึกเหลว(LCD)
จอภาพผลึกเหลว (อังกฤษ: Liquid crystal display หรือ LCD) เป็นอุปกรณ์จอภาพแบบแบน บาง สร้างขึ้นจากพิกเซลสี หรือพิกเซลโมโนโครมจำนวนมาก ที่เรียงอยู่ด้านหน้าของแหล่งกำเนิดแสง หรือตัวสะท้อนแสง นับเป็นจอภาพที่ได้รับความนิยมมากขึ้นในปัจจุบัน เพราะใช้กำลังไฟฟ้าน้อยมาก ด้วยเหตุนี้ จึงเหมาะสำหรับการใช้งานที่มีแหล่งจ่ายไฟเป็นแบตเตอรี่
แต่ละพิกเซลของจอผลึกเหลวนั้นประกอบด้วยชั้นโมโลกุลผลึกเหลวที่แขวนลอยอยู่ระหว่างขั้วไฟฟ้าโปร่งแสงสองขั้ว ที่ทำด้วยวัสดุอินเดียมทินออกไซด์ (Indium tin oxide) และตัวกรอง หรือฟิลเตอร์แบบโพลาไรซ์สองตัว แกนโพลาไรซ์ของฟิลเตอร์นั้นจะตั้งฉากกัน เมื่อไม่มีผลึกเหลวอยู่ระหว่างกลาง แสงที่ผ่านทะลุตัวกรองตัวหนึ่งก็จะถูกกั้นด้วยตัวกรองอีกตัวหนึ่ง
ก่อนที่มีการจ่ายประจุไฟฟ้าเข้าไป โมเลกุลผลึกเหลวจะอยู่ในสภาวะไม่เป็นระบบ (chaotic state) ประจุบนโมเลกุลเหล่านี้ทำให้โมเลกุลทั้งหลายปรับเรียงตัวตามร่องขนาดเล็กจิ๋วบนขั้วอิเล็กโตรด ร่องบนขั้วทั้งสองวางตั้งฉากกัน ทำให้โมเลกุลเหล่านี้เรียงตัวในลักษณะโครงสร้างแบบเกลียว หรือไขว้ (ผลึก) แสงที่ผ่านทะลุตัวกรองตัวหนึ่ง จะถูกหมุนปรับทิศทางเมื่อมันผ่านทะลุผลึกเหลว ทำให้มันผ่านทะลุตัวกรองโพลาไรซ์ตัวที่สองได้ แสงครึ่งหนึ่งถูกดูดกลืนโดยตัวกรองโพลาไรซ์ตัวแรก แต่อีกครึ่งหนึ่งผ่านทะลุตัวกรองอีกตัว
เมื่อประจุไฟฟ้าถูกจ่ายไฟยังขั้วไฟฟ้า โมเลกุลของผลึกเหลวก็ถูกถึงขนานกับสนามไฟฟ้า ทำให้ลดการหมุนของแสงที่ผ่านเข้าไป หากผลึกเหลวถูกหมุนปรับทิศทางโดยสมบูรณ์ แสงที่ผ่านทะลุก็จะถูกปรับโพลาไรซ์ให้ตั้งฉากกับตัวกรองตัวที่สอง ทำให้เกิดการปิดกั้นแสงโดยสมบูรณ์ พิกเซลนั้นก็จะมืด จากการควบคุมการหมุนของผลึกเหลวในแต่ละพิกเซล ทำให้แสงผ่านทะลุได้ในปริมาณต่างๆ กัน ทำให้พิกเซลมีความสว่างแตกต่างกันไป
โดยปกติการปรับฟิลเตอร์โพลาไรซ์เพื่อพิกเซลโปร่งแสง เมื่อพักตัว และทึบแสงเมื่ออยู่ในสนามไฟฟ้า อย่างไรก็ตาม บางครั้งก็เกิดผลตรงกันข้าม สำหรับเอฟเฟกต์แบบพิเศษ
ชนิดของจอภาพ
TN+Film (Twisted Nematic) เป็นเทคโนโลยีของจอผลึกเหลว ที่นิยมใช้อย่างแพร่หลาย เนื่องจากมีต้นทุนการผลิตที่ต่ำ และการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในปัจจุบัน พัฒนาจนสามารถทำให้มีความเร็วของการตอบสนองด้วยความเร็วสูงเพียงพอที่จะทำให้เงาบนภาพเคลื่อนไหวลดลงได้มาก ทำให้จอแบบ TN+Film มีจุดเด่นด้านการตอบสนองได้อย่างรวดเร็ว (จอTN+Film จะใช้การวัดการตอบสนอง เป็นแบบ grey to grey ซึ่งจะแตกต่างจากค่า ISO ที่วัดแบบ black to white) แต่จุดเสียของจอแบบ TN+Film นั่นคือมีรัศมีการมองเห็นที่แคบ โดยเฉพาะแนวตั้ง และส่วนใหญ่จะไม่สามารถแสดงสีได้ครบ 16.7ล้านสี (24-bit truecolor)
IPS (In-Plane Switching) คิดค้นโดยบริษัท Hitachi ในปี พ.ศ. 2539 ซึ่งมีคุณสมบัติเด่นกว่า TN+Film ทั้งด้านรัศมีการมองเห็น และการแสดงสีที่ 8-bit แต่การปรับปรุงดังกล่าว ทำให้เกิดการตอบสนองที่ชักช้า ถึง 50ms และยังแพงมากอีกด้วย
จากนั้นในปี พ.ศ. 2541 Hitachi ได้นำระบบ S-IPS (Super-IPS) ออกมาแทนที่ระบบ IPS เดิม ซึ่งได้มีการปรับปรุงประสิทธิภาพในด้านการตอบสนองที่ดีขึ้น และสีสันที่ไกล้เคียงจอภาพแบบ CRT พบได้ในโทรทัศน์ระบบจอผลึกเหลว
MVA เป็นการรวมข้อดีระหว่าง TN+Film กับ IPS เข้าด้วยกันทำให้มี Response Time ที่ต่ำ และ View Angle ที่กว้างเป็นพิเศษ แต่มีราคาแพงมาก
PVA เป็นการพัฒนาจากแบบ MVA ให้มีราคาถูกลงซึ่งทำให้มีค่า Contrast Ratio ที่สูงมาก และมี Response Time ที่ต่ำ ใช้ในจอภาพแบบผลึกเหลวระดับสูง
ที่มา: http://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%88%E0%B8%AD%E0%B8%A0%E0%B8%B2%E0%B8%9E%E0%B8%9C%E0%B8%A5%E0%B8%B6%E0%B8%81%E0%B9%80%E0%B8%AB%E0%B8%A5%E0%B8%A7
Subscribe to:
Posts (Atom)